หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการในบ้านเราได้ไม่นาน ก็ได้เวลาของการทดสอบสมรรถนะรถใหม่อเนกประสงค์ All New Mazda CX-8 คันนี้ กันบนเส้นทางเชียงใหม่ถึงเชียงราย รวมระยะกว่า 280 กิโลเมตร บนเส้นทางออนโรดลัดเลาะโค้งตามแนวเขาเพื่อให้ได้สัมผัสถึงระบบต่างๆ ที่ Mazda CX-8 พัฒนาเพื่อการเดินทางจริงๆ
เพราะตลาดรถอเนกประสงค์ของประเทศไทยกำลังไปได้ดี และ Mazda เองก็มีผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าคนไทย การนำเอา CX-8 ที่ประกอบในประเทศมาเลเซียเข้ามาทำตลาดในไทยจึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับคนที่ชอบรถอเนกประสงค์ โดยเฉพาะรถที่มีเบาะแบบ 7 ที่นั่ง ที่มีการใช้ตัวถังแบบโมโนค็อกแทนที่จะเป็นแบบแชสซีส์ออนเฟรมทำให้ CX-8 คันนี้ มีข้อได้เปรียบรถอเนกประสงค์ในแบบ PPV
ส่วนผสมที่ลงตัวจาก CX-9 และ CX-5
ก่อนขับขอพูดถึงเรื่องแนวทางการออกแบบของที่เน้นความเรียบง่าย ทีมวิศวกร Mazda ก็เลยสร้างแพลทฟอร์ม Skyactiv Chassis ขึ้นมาใหม่สำหรับ CX-8 โดยรวมๆ โครงสร้างแกนกลางของรถมาจาก CX-9 ชิ้นส่วนหน้ารถด้านข้าง คานเครื่องยนต์ ผนังห้องเครื่องยนต์ มาจาก CX-5 และทำให้รถดูมีมาดสุขุมเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในแบบรถอเนกประสงค์ ด้วยการเป็นรถอเนกประสงค์ขนาด 6 และ 7 ที่นั่ง ที่ถูกพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของรถยนต์นั่งอย่างแท้จริง
รูปโฉมภายนอกนั้น มาสด้ายังคงยึดแนวทาง โคโดะ ดีไซน์ (Kodo Design) เช่นเดียวกับทุกรุ่น โคมไฟหน้าโปรเจคเตอร์ LED ของรุ่น 2.5 SP ไฟหน้าเปิด/ปิดอัตโนมัติ ไฟ Daytime Running Light และไฟท้ายเป็นหลอด LED ล้ออัลลอยขนาด 19×7 นิ้ว ยาง 225/55R19 ภาพรวมของรูปทรงและเส้นสายต่างๆ จึงใกล้เคียงกันมากๆ โดยเฉพาะกับรุ่น CX-5 โฉมปัจจุบัน เพราะ CX-5 นั้นออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ CX-8 จะยาวกว่า และมีการปรับปรุงในส่วนของรูปทรงด้านหลังที่ลู่ลมมากกว่า
ห้องโดยสารในแบบ 3 แถว 6 ที่นั่ง และ 3 แถว 7 ที่นั่ง
ลองหยิบกุญแจสมาร์ทคีย์มีปุ่มสำหรับกดเปิดฝาท้ายรถมาให้ในรุ่น 2.5 SP ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุดของเครื่องยนต์เบนซิน ที่ทางทีมงานของมาสด้าเตรียมไว้ให้ขับทดสอบ ห้องโดยสารจะเป็นแบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง เบาะนั่งตอนหน้าฝั่งคนขับปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง ปรับองศาการเทของเบาะรองนั่งได้ และมีระบบความจำตำแหน่งเบาะมาให้ 2 ตำแหน่ง สอบผ่านในเรื่องความสบายและกระชับ
พวงมาลัยที่ให้มาเป็นแบบมัลติฟังก์ชั่น 3 ก้าน ส่วนจอกลางความบันเทิงแบบสัมผัสขนาด 7 นิ้ว ก็รองรับการเชื่อมต่อแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนผ่านระบบ Mazda Connect พร้อม Apple CarPlay และ Android Auto ได้ และยังสามารถควบคุมด้วยปุ่มควบคุมอัจฉริยะ Center Commander ที่มีติดตั้งมาให้ในทุกรุ่นย่อย
มาพร้อมกับเบาะที่นั่งแถวสองแบบ 3 ที่นั่ง สามารถปรับพับแยกได้แบบ 60:40 ที่ตัวฐานเบาะมีความนุ่มแน่นอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ความยาวในการรองรับช่วงต้นขาก็ทำได้ดี ส่วนการปรับเอนทำได้ 22 ถึง 30 องศา แต่ไม่ว่าจะองศาใดสรีระเวลานั่งจะอยู่ในตำแหน่งที่มีความสบายแทบไม่ต่างกัน นั่งได้สบาย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเบาะปรับเลื่อนหน้าหลังได้ 120 มิลลิเมตร ช่วยเรื่องพื้นที่วางขาให้คนนั่งเบาะแถว 3 มีที่ว่างพอสำหรับการนั่งแบบสบายๆ เรียกว่าปรับให้ดีทั้งคนนั่งแถว 2 กับ 3 และมีช่อง USB สำหรับชาร์จไฟ 2 ช่อง และระบบปรับอากาศอัตโนมัติแบบ Tri Zone ที่ผู้โดยสารแถวกลางสามารถควบคุมระบบปรับอากาศเองได้ตามต้องการ
การเข้าไปนั่งในตำแหน่งเบาะแถว 3 ทำได้สะดวกอยู่ เพียงดึงคันโยกเหนือพนักพิงแล้วดันเลื่อนเบาะไปทางด้านหน้า จากนั้นจึงปีนพาตัวเองเข้าไปนั่งยังเบาะแถว 3 แล้วค่อยดึงเบาะแถว 2 กลับมาในตำแหน่งใช้งานปกติ กระบวนการที่กล่าวมาใช้เวลาเพียงไม่นานก็เสร็จสิ้น ต่างจากพีพีวีส่วนใหญ่ที่กว่าจะเข้าไปนั่งได้ บางครั้งอาจทำให้ผู้โดยสารที่ปีนไปนั่งมีอาการเคล็ดขัดยอกกันบ้าง ส่วนการออกจากเบาะแถว 3 ก็ทำได้ไม่ยากครับ เพียงดึงคันโยกเหนือพนักพิงเบาะในที่อยู่ในตำแหน่งติดกับทางออกรถ แล้วค่อยดันเลื่อนเบาะแถว 2 ไปด้านหน้า จากนั้นจึงค่อยเอื้อมมือจับมือเปิดประตูที่ไม่ได้อยู่ไกล สามารถทำได้ด้วยตนเองแบบไม่ต้องพึ่งพาผู้โดยสารคนอื่น
แม้การใช้งานจริงของเบาะแถว 3 อาจจะได้ใช้งานจริงไม่กี่ครั้ง แต่ทางมาสด้าก็คำนวณจากฐานของความสูงมาตรฐานผู้ใหญ่ ที่ 175 เซนติเมตร นั่งได้ค่อนข้างสบาย มีพื้นที่วางขาเหลือพอประมาณ แต่กับเรื่องที่ว่างเหนือศีรษะอาจเหลือไม่มากเท่าที่ควร โดยรวมการจัดสรรตำแหน่งทุกเบาะในเบาะแบบ 3 แถว ทำได้ดีสำหรับรองรับการโดยสารและสามารถปรับพับแยกได้แบนราบแบบ 50:50
ส่วนในห้องโดยสารแบบ 3 แถว 6 ที่นั่ง จะอยู่ในรุ่นท็อปที่เบาะที่นั่งแถวสองจะเป็นแบบ Exclusive Captain Seat 2 ที่นั่ง แยกซ้าย-ขวา และจัดเต็มอัดแน่นไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกกับคอนโซลกลางที่เป็นทั้งกล่องเก็บของ ที่วางแก้วน้ำ ช่อง USB สำหรับชาร์จไฟ 2 ช่อง และม่านบังแดดที่ประตูคู่หลัง มอบความสบายระดับเอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ
2 ฟีล 2 ทางเลือกเครื่องยนต์ เบนซิน-ดีเซล
All-New Mazda CX-8 พี่ใหญ่ ขับดี มีความภูมิฐาน โมเดลนี้มีหัวใจมี 2 ทางเลือกหลักคือ เครื่องยนต์แบบดีเซล 2.2 ลิตร กำลัง 190 แรงม้า แรงบิด 450 นิวตัน-เมตร ในตัวรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.5 ลิตร 194 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 258 นิวตัน-เมตร แบบเดียวกับ CX-5 แต่ได้รับการพัฒนาให้ดีกว่าเดิม Mazda ที่พาเราไปขับบนเส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปสู่จังหวัดเชียงราย ซึ่งทุกรุ่นส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติแบบ 6 สปีด คันเร่งไฟฟ้า และพวงมาลัยไฟฟ้า (EPAS) ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าใน 3 รุ่นย่อย และแบบขับเคลื่อน 4 ล้อ (All Wheel Drive) เฉพาะรุ่นท้อปสุดเพียงรุ่นเดียว
บนเส้นทางหลักไปวิ่งเลียบภูเขา ทดลองขึ้นและลงเนินมีสภาพโค้งครบทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นความเร็วสูงหรือความเร็วต่ำ ตลอดการทดสอบ เรื่องอัตราเร่งเมื่อกดคันเร่งออกตัวรถจะพุ่งไปในทันที บางครั้งรู้สึกว่าความกระปรี้กระเปร่าของมันนั้นเทียบได้กับ Mazda3 ทั้งความคมในการตอบสนองต่อคันเร่ง กดเมื่อไรให้ตามที่สั่งและมาในทันทีแบบไม่มีรีรอ
ส่วนช่วงล่างของ CX-8 นับเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง เพราะดูเหมือนความสะเทือนแนวรถสปอร์ต ความคล่องแคล่วมั่นใจแทบไม่ต่างจาก CX-5 ทั้งๆ ที่แบกน้ำหนักต่างกัน ทำให้คุณได้รถใหญ่ยาว 4.9 เมตร 7 ที่นั่ง ที่แล่นฉิวเข้าออกโค้งราวกับมันนึกว่ามันเป็น SUV รุ่นเล็ก เกาะถนนมั่นใจ หักเปลี่ยนเลนเร็วๆ แล้วช่วงล่างสามารถคุมอาการได้อยู่หมัด
ระบบความปลอดภัย มาพร้อมกับเทคโนโลยี i-Activsense
เรื่องระบบความปลอดภัยพื้นฐานครบครัน ไม่ว่าจะระบบเบรกป้องกันล้อล็อค 4W-ABS มาพร้อมระบบเสริมแรงเบรกและกระจายแรงเบรก, ระบบควบคุมการทรงตัวและระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ให้ถุงลมนิรภัยคู่หน้าและม่านนิรภัยรวมๆ แล้วกว่า 6 จุดในห้องโดยสาร รวมถึงตัวช่วยอื่นๆ รุ่นเริ่มต้นจะให้เพียงกล้องมองหลัง ให้ระบบเตือนจุดอับสายตา ขณะเปลี่ยนเลน (Blind spot Monitoring) และขณะถอยหลัง (Rear Cross Traffic Alert), ระบบช่วยออกตัวในทางลาดชัน และสัญญาณเตือนฉุกเฉินเมื่อเบรกอย่างรุนแรง
ส่วนในรุ่นท็อปสุดอย่างในโฉม XDL Exclusive นั้น จะมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ AWD, ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง (SCBS-R), ระบบไฟหน้า LED อัจฉริยะ (ALH), ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน (LDWS), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน (LAS) และ ระบบช่วยเตือนเมื่อเหนื่อยล้าขณะขับขี่ (DAA) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ติดตั้งมาให้เพิ่มขึ้น
AFTER DRIVE BY KAN YENSABAI
สำหรับผม Mazda CX-8 เป็นรถอีกหนึ่งรุ่นที่ออกแบบมาได้สวยโดดเด่นและมีแนวทางการดีไซน์ ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดแบบญี่ปุ่น เรียบง่าย แต่เก็บรายละเอียดได้ดี ทำให้รถคันนี้ดูมีสวยและดูมีมิติ
แม้ในทริปนี้ผมจะไม่ได้มีโอกาสได้ขับ Mazda CX-8 ครบทั้งใน 2 ฟีล 2 ทางเลือกเครื่องยนต์ คือเบนซิน-ดีเซล แต่ได้ลองขับเฉพาะรุ่นเครื่องยนต์เบนซินในรุ่นท็อป 2.5 SP เท่านั้นด้วยเวลาที่มีจำกัด แต่เมื่อมาโฟกัสในรุ่น 2.5 SP ก็ต้องบอกว่าตัวรถมีดีและโดดเด่นไม่แพ้ในรุ่นดีเซลครับ ทั้งในเรื่องความคุ้มค่าต่อการใช้งานและน่าสนใจ เพราะใช้พลังงานทางเลือกได้ถึง E20 ด้วย เหมาะมากสำหรับคนที่ไม่ได้เน้นรถฟังก์ชั่นเยอะ เพียงต้องการรถ 7 ที่นั่ง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์แบบครอบครัวใหญ่ที่จัดสรรตำแหน่งทุกเบาะ ในเบาะแบบ 3 แถวทำได้ดีสำหรับรองรับการโดยสารจริงๆ
จากการทดลองขับเมื่อผมนั่งในตำแหน่งคนขับบอกเลยครับว่า อารมณ์ความเป็นหนุ่มใหญ่ที่มีความร้อนแรงอยู่ในตัว ผ่านการกดแป้นคันเร่งแล้วรอบดีดขึ้นทันที พละกำลังที่เรียกออกมาสมกับที่มี 194 แรงม้า เกียร์ก็ทำงานไวตามสั่ง เป็นรถคัน ยาว ใหญ่ แต่ก็ขับได้แรง สนุกและเฉียบคม ไม่เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางเดินทางไกล ทั้งในเมือง หรือทางขึ้น-ลง บนภูเขา ก็ทำงานได้ดี โดยที่ไม่รู้สึกเลยว่ากำลังขับรถที่ยาวเกือบ 5 เมตร
ส่วนในเรื่องราคาค่าตัวที่วางเอาไว้ 1.699 ล้านบาท ในรุ่นเบนซิน ถ้าเทียบกับรถอเนกประสงค์แบรนด์คู่แข่งรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อกลางๆ ที่มีพื้นฐานจากรถกระบะ ไม่ว่าจะเป็น Toyota Fortuner, Ford Everest และ Mitsubishi Pajero Sport ราคาเปรียบเทียบแล้วไม่แพงกว่ากันมาก แต่ได้รถที่มีแพลทฟอร์มและคาแรคเตอร์แตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาด ถือว่าทางมาสด้าคิดมารอบคอบดี ในเรื่องการทำตลาด ส่วนในรุ่นดีเซลแบบ3แถว เบาะ Captain Seat 6 ที่นั่ง XDL Executive ขับสี่ AWD ราคา 2,069,000 บาท ตัวไฮไลท์ ไว้มีโอกาสทดลองขับเต็มๆ หลังปีใหม่จะมาเล่าให้ฟังกันอีกทีนะครับ
ราคาจำหน่าย All-New Mazda CX-8
2.5 S SKYACTIV-G 2.5 7 ที่นั่ง 1,599,000.-
2.5 SP SKYACTIV-G 2.5 7 ที่นั่ง 1,699,000.- **รุ่นที่ทดสอบ
XDL SKYACTIV-D 2.2 7 ที่นั่ง 1,899,000.-
XDL EXCLUSIVE SKYACTIV-D 2.2 6 ที่นั่ง 2,069,000.-