บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 ประจำปี 2565 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่และไม่หยุดยั้งในการปรับปรุงกระบวนการผลิตและการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่โรงงานแหลมฉบัง รางวัลนี้แสดงถึงความสำเร็จครั้งสำคัญเนื่องจากโรงงานดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส สำหรับจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและส่งออกทั่วโลก โดยพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรมวิถีใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน จัดขึ้น ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก (วิภาวดีรังสิต) กรุงเทพมหานคร
โรงงานของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งหมด 6 รางวัล ได้แก่ 1) โรงงาน 1 และ 2 2) โรงงาน 3 3) สนามทดสอบรถยนต์ 4) โรงงานผลิตเครื่องยนต์ 5) โรงงานปั๊มขึ้นรูป 1 และ 6) โรงงานปั๊มขึ้นรูป 2 และพลาสติก โดยมี มร. มาซาฮิโระ อะวาโนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานวิจัยและพัฒนา และนายธีรุตม์ บุตรเลิศเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกฎหมายและกลยุทธ์สิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารฝ่ายการผลิตเป็นผู้แทนรับรางวัลจากนางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 ซึ่งมอบให้แก่สถานประกอบการที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของพนักงานในทุกระดับภายในองค์กรเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกมิติของการดำเนินธุรกิจจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมให้บริษัทฯ มุ่งมั่นสนับสนุนการปฏิบัติงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ด้วยแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมและความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืนตลอดหลายปีที่ผ่านมา มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้รับรองมาตรฐาน IS014001 ตั้งแต่ปี 2544 บริษัทฯ ยังได้รับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 ในปี 2564 และรางวัลการจัดการของเสียที่ดีตามหลัก 3R จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2558 และ 2563
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และเอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น มีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตทุกแห่ง โดยมีเป้าหมายลดของเสีย ลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างการนำเทคโนโลยีการพ่นสีฐานน้ำมาใช้ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายสู่สิ่งแวดล้อม และสร้างระบบการบำบัดน้ำเสียที่สอดคล้องกับการจัดการของเสียที่ดี ด้วยการลดการใช้ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อลดการใช้น้ำดิบให้น้อยลงและลดการปล่อยน้ำเสียอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานด้วยเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากกว่า 6,100 ตันต่อปี นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินโครงการ “Solar for Lives : พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยจะติดตั้งแผงโซลาร์ในโรงพยาบาลชุมชน 40 แห่งภายใน 10 ปีข้างหน้า
โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและน่าเชื่อถือให้แก่ภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2554 ช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของประชาชนและสร้างเศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงอุตสาหกรรมเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องพัฒนา ปรับปรุง และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
โครงการอุตสาหกรรมสีเขียวโดยกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการบนพื้นฐานของความสมัครใจของสถานประกอบการที่ต้องการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยดำเนินการอย่างเป็นระบบใน 5 ระดับ
เพื่อให้แนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในกลุ่มสถานประกอบการมีความสอดคล้องกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization หรือ UNIDO) กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำหลักการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กร (Total Quality Management หรือ TQM) ผนวกกับหลักการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พัฒนาและปรับปรุงเป็นหลักการของ “อุตสาหกรรมสีเขียว” บนพื้นฐานสำคัญของ 2 เสาหลักคือ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร เพื่อยกย่องความมุ่งมั่นของสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยได้มอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวให้แก่สถานประกอบการที่มีการปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่ความยั่งยืน